top of page
ค้นหา

สู่ความเคว้งคว้างสีน้ำเงิน (Silent Blue)

“ล้มกี่ครั้ง ก็ต้องลุกขึ้นอีก จนได้เห็นชัยชนะ” โครงการประกวดภาพยนตร์สั้นแนววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากๆ สำหรับคนทำหนังแนว Sci-fi แต่ในขณะเดียวกันเองก็เป็นเวทีประกวดที่หายากมากเช่นกัน ผมเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบภาพยนตร์แนว sci-fi มาตั้งแต่เด็กๆ เพราะความน่าหลงใหลและความพิศวงบนพื้นฐานของโลกแห่งความเป็นจริง ที่เพียงแค่ต้องดึงยืดมันออกให้กว้างและบิดงอให้มันโค้งอีกหน่อย ก็ทำให้คนดูสามารถพร้อมที่จะก้าวเดินไปกับเส้นทางผจญภัยไปในโลกแห่งภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ได้แล้ว และนี่คืออีกหนึ่งในเสน่ห์ของภาพยนตร์แนวนี้

และในปี 2015 เวทีประกวดหนังสั้น Short Scient Film ครั้งที่1 ก็ได้เริ่มขึ้น ในหัวข้อ “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” ซึ่งทางผมเองก็ได้มีส่วนร่วมในผลงานชิ้นหนึ่งซึ่งส่งร่วมประกวดเช่นกัน ในผลงานชื่อ “My Space” แต่ได้เพียงอันดับที่2 ของการประกวด ซึ่งต้องขอบอกเป็นแนวทางก่อนว่าในแต่ละเวทีประกวดนั้น เราอาจต้องพยายามจับทางของเวทีให้ได้ ว่าเขาต้องการหนังแบบไหน, กรรมการชอบแนวทางแบบไหน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็อาจมีความผันผวนบ้าง แต่มันก็เป็นแนวทางที่ดีที่เราจะได้รู้และศึกษาไปเรื่อยๆ เพื่อปรับทิศทางหนังของเราให้เข้ากับสิ่งที่เขากำลังควานหาอยู่

จนกระทั่งเวทีนี้ได้หวนกลับมาเป็นครั้งที่2 ในปี 2016 ซึ่งทางผมและทีมงานก็ได้ผลิตหนังสั้นตามหัวข้อของปีนั้นคือ “เทคโนโลยีชีวภาพ เปลี่ยนโลก” โดยผลงานที่ส่งชื่อ “Beneath the Dawn” ซึ่งการประกาศผลปีนั้นแตกต่างจากปีก่อนหน้านี้คือ ไม่ได้เรียงลำดับชนะเลิศ แต่แยกเป็นแต่ละสาขาไป ซึ่งผลงานของเราได้รางวัลสาขา “ภาพประกอบยอดเยี่ยม” ซึ่งนั่นก็ยังคงไม่ใช่เป้าหมายรางวัลที่เราตั้งใจไว้ เพราะผมต้องการที่จะคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับที่1 หรือเทียบเท่ารางวัล สาขาภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยม ของปีนั้นๆ ให้ได้


และในปีถัดมา โครงการเดิมนี้ก็ได้เริ่มขึ้นอีกครั้งในปี 2017 ในหัวข้อ “Science Around Us” ซึ่งเป็นอีกครั้งที่ผมต้องทำความเข้าใจและตีโจทย์ให้แตก เพื่อให้การสร้างผลงานนี้ออกมาเข้าตากรรมการและถูกโจทย์ของเวทีประกวดนี้ การเริ่มต้นเขียนบทแบบร่างๆ จึงเกิดขึ้น ผมจำได้เลยว่ามันไม่เคยออกมาเป็นตัวหนังสือจริงๆ จนกระทั่ง1วันก่อนถ่ายทำ และมันไม่ใช่ “บทภาพยนตร์” จริงๆ ด้วยซ้ำไป แต่เป็นเหมือนร่างลิสเป็นข้อๆ ถึงลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามลำดับการตัดต่อ ไม่ใช่ลำดับการถ่ายทำใดๆ ซึ่งพูดตามตรงเลยว่า โปรเจคนี้ทุกๆ อย่างอยู่ในหัวของผมแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าขำและไร้สาระในเวลาเดียวกันสำหรับการทำงานที่ควรจะมีการแจกแจงงานออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้ทุกๆ คนในทีมงานได้เข้าใจถึงการทำงานในช่วงโปรดักชั่น แต่ในใจจริงของผมแล้ว หนังสั้นทั้งเรื่องได้ถูกออกแบบ-วางแผน-ถ่ายทำ-กำกับ-ตัดต่อ เสร็จสิ้นหมดแล้วภายใน “หัว” ของผมเอง ตั้งแต่ต้นจนจบ โดยการใช้ทรัพยากรเท่าที่มีและทีมงานจำนวนหยิบมือเท่านั้น เพราะผมรู้ดีว่าผมไม่อยากที่จะลงทุนด้านทุนทรัพย์อะไรมากจนเกินไปหากสุดท้ายแล้วมันไม่ได้เงินรางวัลจากชัยชนะที่ผมต้องการ มันก็จะกลายเป็นการขาดทุนในส่วนตรงนี้ แม้ว่าด้วยประสบการณ์จะถือว่าเป็นสิ่งที่ได้กำไรก็ตาม


แม้ว่าจะเป็นการทำงานที่ดูเหมือนว่าจะอยู่ในหัวของผม แต่ในเชิงปฏิบัติก็ยังคงต้องเป็นไปตาม “ตำรา” นั่นคือการเริ่มจากกระบวนการ Pre-Production 1 อาทิตย์ก่อนเริ่มถ่ายทำจริง ซึ่งผมรู้แล้วว่าผมต้องการนักแสดงตัวละครเด็กผู้ชายตั้งแต่แรก แต่คำถามคือจะต้องแคสใคร (คัดเลือกนักแสดง) ผมตระเวนหานักแสดงและคนรู้จักเก่าที่เคยร่วมงานด้วยกันมาก่อน เข้าไปพูดคุยและทำการทดลองการแสดงกับหน้ากล้อง ทั้งรูปลักษณ์ หน้าตา เอกลักษณ์ และการแสดง ซึ่งแม้ท้ายที่สุดแล้วจะมีตัวเลือกเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ก็ยังคงเป็นการตัดสินใจที่ยากอยู่ดี เพราะมี Pro vs. Con (ข้อดี-เสีย) ผสมปนอยู่ในแต่ละนักแสดง จนกระทั่งผมตัดสินใจแคสน้อง “Jack” (Jack Woody Mercer) ลูกครึ่งไทย-อังกฤษ วัย 15 มารับบทเป็นตัวละครหลักในเรื่องนี้ เพราะความที่เราเคยร่วมงานด้วยกันและสนิทกัน อาจจะเป็นการง่ายกว่าในการสื่อสารและไม่อายต่อหน้ากล้องหรือทีมงาน และด้วยรูปหน้าของน้องที่มีความเป็นเอกลักษณ์และโดดเด่น ซึ่งนั่นอาจช่วยในการระบุตัวละครของน้องได้ดีและง่ายขึ้น รวมไปถึงหน้าตาที่ดีของน้องทำให้เข้ากับธีมที่เราซ่อนไว้ในต้นเรื่องของหนังเพื่อให้คนเข้าใจเมื่อเรื่องได้เฉลยปมเหล่านั้นด้วย และนี่คือจุดเริ่มต้นของขัดเกลาและหล่อหลอมตัวละครสมมุตที่มีชื่อว่า “Will” ขึ้นมา ที่เหลือก็แค่นักแสดงประกอบที่ได้เลือกไว้แล้ว

หลังจากได้ข้อสรุปในการเลือกแจ๊คมาแสดงแล้ว กระบวนการการ fitting หรือ การเลือกชุดให้กับนักแสดงก็มีความท้าทายมาก เพราะรูปร่างหุ่นที่สูงโปร่งของน้อง ทำให้การออกแบบเสื้อผ้าและหาชุดที่เหมาะและเข้ากันกับน้องเป็นเรื่องที่ยาก เพราะเราต้องการชุดที่คลุมโทนและสามารถลุยได้ตามบทบาทในบทของภาพยนตร์เอง ซึ่งแม้ว่าจะมีการดัดแปลงและลองชุดมากมายให้เข้ากับน้อง ในที่สุดเราก็ได้ความลงตัวที่พอเหมาะสำหรับน้องเพื่อใช้ในแต่ละฉากในภาพยนตร์ ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นกระบวนการที่สนุกและท้ายทายในเวลาเดียวกันเช่นกัน เพราะมันคือหนึ่งในการออกแบบศิลป์ให้กับผลงานของเรา


ส่วนต่อไปคือการเลือกทีมงาน ซึ่งปกติแล้วจากผลงานของผมเองก่อนหน้านี้ที่ผ่านมา ผมจะรับผิดชอบทำเกือบทุกอย่าง รวมไปถึง “cinematographer” หรือ ผู้กำกับภาพ (ตากล้อง) นั่นเอง แต่เนื่องจากการที่ได้มีโอกาสทำความรู้จักและร่วมทำงานด้าน VFX ให้กับเพื่อนคนใหม่ชาวอเมริกัน “เจสัน” แล้ว ทำให้ผมอยากที่จะลองเปลี่ยนบทบาทสำหรับผลงานชิ้นนี้ดู โดยการดึงเจสันเข้ามารับผิดชอบในด้านนี้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งการลงทุนที่สูงสำหรับผมมากในตอนนั้นสำหรับหนังสั้นเรื่องหนึ่งที่ไม่มีอะไรการันตีเลยว่าจะได้อะไรกับมาเป็นตัวเงิน แต่ผมกลับมองว่า อย่างน้อยมันก็จะคือผลงานที่ออกมาดีและได้ประสบการณ์ใหม่จากการทำงานชิ้นนี้ ผมจึงตัดสินใจในการ “ว่าจ้าง” เจสันมากำกับภาพให้กับผลงานชิ้นนี้


โปรดักชั่นวันแรกเริ่มขึ้น โดยมีผม, เจสัน, แจ๊ค, เด็กฝึกงาน 1 คน และ เด็กช่วยวิ่งงานอีก 1 คน รวมทั้งหมดเป็น 5 คน ผมแทบไม่อธิบายเกี่ยวกับบทหรือ plot อะไรเลยให้กับเจสัน หรือแม้แต่แจ๊คเอง เพราะอยากให้พวกเขาได้ถ่ายทอดความมึนงงและสับสนเฉกเช่นสถานการณ์ที่ตัวละครนั้นๆ กำลังเผชิญ หรือทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้ออ้างที่ผมไม่มีอะไรจะยื่นให้พวกเขาได้รับรู้เลย (ฮ่ะๆ) แต่ถึงกระนั้น งานทั้งหมดนี้ก็หาได้เดินบนเส้นทางที่มืดไม่ เพราะแสงสว่างของภาพกว้างที่สำเร็จแล้วทั้งหมดนั้น “อยู่ในหัวของผมเอง” แม้ว่านี่อาจจะฟังดูเหมือนการทำงานที่ไม่มีใครรู้ว่า”ต้องทำอะไรเลย” แต่ผมก็ต้องจัดการอธิบายแต่ละฉากให้กับทีมงานได้รู้ถึงสิ่งที่ต้องทำ แจ๊คที่ดูเหมือนจะสนุกสนานไปกับการแสดงที่ไร้ขีดจำกัดไปหมด เพราะความแปลกใหม่ของแต่ละสถานที่ที่ทำให้น้องสนุกและสามารถอินไปกับบทบาทความรู้สึกนั้นๆ ของตัวละครจริงได้อย่างไม่ต้องใช้ความพยายามมากนัก และด้วยหลายๆ องค์ประกอบเองที่ช่วยเสริมทำให้ทุกๆ คนในทีมงานมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและพร้อมที่จะเดินไปในเส้นทางผจญภัยนี้ไปด้วยกัน โดยเฉพาะกับนักแสดงและตากล้อง ซึ่งภายหลังมาเมื่อผมได้มีโอกาสพูดคุยกับเจสันถึงงานชิ้นแรกนี้ของเรา เจสันบอกเล่าว่า “ฉันไม่รู้เลยว่ากำลังถ่ายอะไรอยู่ แล้วจะนำเอาไปใช้งานยังไง ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวงานเมื่อเสร็จสิ้นแล้วจะออกมาเป็นรูปเป็นร่างรึเปล่า มึนงงไปหมด (หัวเราะ)” แต่ถึงแม้ว่าความมึนงงจะตีวนอยู่ในหัวของพวกเขา แต่ด้วยความแน่วแน่และวิสัยทัศน์ในหัวที่ชัดเจนของผมเอง ทำให้ผมสามารถกำกับและกำหนดทิศทางของการถ่ายทำทั้งหมด ให้ออกมาอย่างที่ตั้งใจไว้ได้ในที่สุด มันคือการถ่ายทำและสนุกมากๆ เพราะความ random ของแต่ละไอเดียที่หากผุดขึ้นมาแล้วก็ไม่สามารถเพิกเฉยได้เลย รวมไปถึงระยะเวลาการถ่ายทำที่เราวางไว้นั้น ก็เป็นไปตามที่กำหนดไว้ได้ด้วยดี จนกระทั่งการถ่ายทำก็จบและสิ้นสุดลง

และแล้ว กระบวนการ Editing (ตัดต่อ) ก็เริ่มขึ้นภายในห้องสตูดิโอของผมเอง ผมใช้เวลาไม่มากนักก่อนที่จะได้ดราฟแรกออกมา ซึ่งเป็นที่น่าพอใจมาก แม้ว่าจะยังไม่ได้ลงมือในส่วนของ VFX ก็ตาม แต่การใช้เวลาอีกนิดผมก็ได้หนังสั้นความยาว 10 นาทีตามที่เวทีประกวดได้กำหนดไว้ และแล้วกระบวนการ VFX ก็เริ่มต้น โดยมีผมและเด็กฝึกงาน “อาร์ค” (Asadawut Teweechon) ร่วมมือทำด้วยกัน ทีละฉากๆ ที่เราค่อยๆ ทำและขัดเกลาให้ได้ภาพที่ออกมาดูดีที่สุดตามที่ผมได้ออกแบบและวางแผนไว้ ในขณะเดียวกันที่การออกไปแคสเด็กที่ต้องนำมาพากย์เสียง ซึ่งก็เป็นเรื่องยากมากเช่นกัน เพราะผมต้องการเสียงเด็กที่เข้ากับตัวละครที่ผมถ่ายทอดออกมา บวกกับให้เข้ากับนักแสดงแจ็คด้วยเช่นกัน กระบวนการนี้ก้าวไปสุดโต่งถึง การนำผู้หญิงมาพากย์และปรับให้เป็นเสียงเด็กผู้ชาย และ การพากย์เสียงผู้ชายปกติแล้วบิดเสียงให้เหมือนเด็ก แต่แล้วสิ่งเหล่านี้ก็ไม่เป็นผล แม้กระทั่งการดึงน้อง “โฟกัส” ในตำนานกลับมาพากย์เสียงก็ดูเหมือนจะไม่เข้ากันกับสิ่งที่ผมต้องการ จนในที่สุดผมก็ได้เจอเพื่อนต่างรุ่นของน้องแจ๊คนั่นคือ น้อง "โธมัส" (Thomas Kraft) ที่น้องมีทักษะการพูดและน้ำเสียงที่ดูดีเป็นธรรมชาติมากๆ ผมจึงเลือกน้องมาและดำเนินกระบวนการต่อจนสำเร็จ ซึ่งบอกได้เลยว่างานพากษ์เสียงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และการให้เสียงกับตัวละครที่ต้องมีความน่าหลงใหลนั้นก็เป็นเรื่องยากมาก แม้ว่าโธมัสจะไม่ใช่มืออาชีพในด้านนี้ก็ตาม แต่น้องมีเอกลักษณ์ในเนื้อเสียงที่น่าสนใจและสมจริงในการถ่ายทอดอารมณ์นั้นๆ ออกมาได้ จนกระบวนการนี้ได้สำเร็จลง หลังจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการทำเสียง และใส่เสียงเอฟเฟคส์ และด่านสุดท้ายคือการเกรดสี หรือ Color grading นั่นเอง ซึ่งผมยอมรับเลยว่า ผมไม่มีทักษะในการทำตรงนี้เลย แต่มีทักษะในการประเมิณและมองภาพรวมของโทนภาพมั้งหมด ซึ่งผมได้ให้ทางเจสันเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนตรงนี้ และนี่คือจุดที่ความน่าอัศจรรย์บังเกิดขึ้น มันเป็นการทำงานด้วยไฟล์ log ที่เปิดโลกทัศน์ใหม่ให้กับผมได้เข้าใจ และในที่สุดผลงานก็สำเร็จและส่งเข้าร่วมเวทีประกวดทันเวลา


1 วันก่อนประกาศผล ผมได้เดินทางไปที่กทม. เพื่อฟังผลประกาศ (เฉพาะทีมที่เข้ารอบเท่านั้น) ซึ่งตอนนั้นทางกองประกวดได้มีการจัดแบ่งเป็นซุ้มฉายหนังสั้นของแต่ละระดับผู้แข่ง ซึ่งก็มีหลายเรื่องมากในระดับประชาชนทั่วไป ซึ่งผมก็ไม่ได้เห็นอะไรมากนัก และแล้วเวลาการประกาศผลก็มาถึง ทางกองประกวดได้จัดภายในโรงภาพยนตร์ SF และค่อยๆ ประกาศจากระดับมัธยม-อุดม และ มหาวิทยาลัย และสุดท้าย ระดับประชาชน ซึ่งได้ทำการประกาศเริ่มจากชมเชย ซึ่งผมก็ทำได้แต่นั่งลุ้น แต่ก็ไม่ได้ยินชื่อของทีมของผม ถัดมาประกาศรายชื่อผู้ชนะเลิศอันดับที่3 ก็ยังคงไม่ใช่ชื่อของผม, ถัดมาอีก ประกาศรายชื่อผูนะเลิศอันดับที่2 แต่ก็ยังไม่ใช่ชื่อของผม...ครั้งนี้ผมจำได้ดีเลย ผมค่อยๆ ก้มหัวลงชิดเข่าทั้งสอง ราวกับว่า "ถ้างานนี้ยังไม่สามารถคว้ารางวัลที่1ได้ ผมจะไม่มีวันส่งประกวดอีกแล้วแน่ๆ" เพราะ4รางวัลที่ประกาศไปแล้วไม่มีชื่อทีมของผมเลย ดังนั้นมันจะพอเหมาะพอเจาะขนาดไหน ถ้าที่1จะเป็นของผมหรอ?? ฝันไปเถอะ...(ผมพูดกับตัวเอง) จนในที่สุดกาประกาศรางวัลชนะเลิศที่1 ที่พิธีกรพายายามยื้อที่จะสร้างความน่าลุ้นตื่นเต้นไว้ให้นั้น ก็ประกาศออกมาพร้อมกับชื่อทีมของผมเต็มหน้าจอโรงภาพยนตร์นั้น!! ความรู้สึกราวการบินได้ในฝันปะทุขึ้น ผมค่อยๆ ยืนขึ้นแล้วค่อยเดินไปหน้าเวที ท่ามกลางเสียงปรบมือและเชียร์ดังลั่น ผมยืนรับรางวัลและถ่ายรูปโดยที่ขาสั่นมากๆ ซึ่งไม่เคยคิดเลยว่ามันจะน่าตื่นเต้นขนาดนี้ จนกระทั่งผมกลับมานั่งกับที่เดิมและทางกองประกวดก็เปิดฉายภาพยนตร์สั้นของผมเองให้กับทุกๆ คนได้ดู ซึ่งก็ได้รับการตอบสนองที่ดีมากๆ เพราะยอมรับเลยว่าผมจัดเต็มมากๆ และนั่นก็คือช่วงเวลาที่ความพยายามของผมอยู่ที่ไหน ผมก็อยากที่จะเห็นความสำเร็จของผมที่นั่น...


นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า "ล้มกี่ครั้ง ก็ไม่สำคัญเท่าลุกขึ้นสู้อีก ทุกๆ ครั้ง" ฟังดูจำเจจนน่าเบื่อนะ แต่ผมอยากเป็นกำลังใจให้กับหลายๆ คนที่มีความพยายามอะไสักอย่างแล้ว จงอย่าท้อและพัฒนาตัวเองและก้าวต่อไปครับ ในขณะเดียวกัน อย่าฝันเฟื่องแล้วไม่ลงมือทำหรือพัฒนาไปไหน เพราะโลกหมุนไปอยู่ตลอดเวลาพร้อมที่จะแซงหน้าเราเสมอครับ ความพยายาม, ความมุ่งมั่น, การพัฒนาฝีมือและทักษะ, การยื่นมือขอความร่วมมือกับคนที่เก่งกว่า, การเทใจ-กาย-ตัว-สมอง ให้กับงาน, และการลงมือทำจริงอย่างเต็มที่ ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของบันไดก้าวแรกที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้อย่างแน่นอนครับ

ดู 6 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comments

Rated 0 out of 5 stars.
No ratings yet

Add a rating
bottom of page