top of page
ค้นหา

ดำดิ่งให้ลึก (ลึกสุดห้วง)


แรงบันดาลใจ+ความคลั่งไคล้ ที่มาจากภาพยนตร์เรื่อง Interstellar และ Gravity ฟังดูเหมือนเป็นไอเดียที่เป็นความพยายามชั้นสูงที่เกินจะเอื้อมถึง โดยเฉพาะสำหรับคนทำซีจีบ้านๆ อย่างผม แต่นั่นก็ไม่ได้หยุดความคลั่งไคล้นี้ที่อยากจะทดลองทำและถ่ายทอดเรื่องราวที่อยากเล่านี้ออกมาผ่านผลงานชิ้นนี้ แม้ว่าขีดข้อจำกัดที่แสนมากราวกับผนังสี่ด้านที่ปิดขังจินตนาการของการสร้างงานแบบนี้ออกมาทำให้มันยากมากที่จะก้าวข้ามที่จะกระโดดออก นี่อาจเป็นด่านแรกที่หลายๆ คนอาจปิดผนึกความคิดนี้แล้วถอดใจเดินหนีไปเลย ด้วยเทคนิคที่ซับซ้อน, ทรัพยากรที่จำกัด, ขอบเขตของ VFX ที่มี, ความรู้และประสบการณ์ในการทำด้านนี้, อุปกรณ์บ้านๆ เท่าที่มี…และเมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขและข้อจำกัดเหล่านี้แล้ว ก้าวต่อไปคืออะไร??


แทบจะทุกๆ งานที่ผมจะทำ ต้องผ่านกระบวนการคิดเชิง “ทฤษฎี” ก่อน นั่นคือการคิดอยู่ในหัวเท่านั้น จะทำได้จริงหรือไม่ในเชิงปฏิบัตินั้น เป็นอีกคำถามที่ต้องไปลองกันหน้างาน มันเหมือนนักคณิตศาสตร์ที่คิดตัวเลขในหัวก่อน ก่อนที่จะออกมาเป็นภาคปฏิบัติจริงในโลกการคำนวนที่ส่งผลต่อโลกความเป็นจริง ผมเก็บนำความรู้จากเทคนิคการดูวิดีโอเบื้องหลัง (Behind the scene) และ บทสนทนา commentary ของผู้สร้างในภาพยนตร์ (ซึ่งปกติแล้วเมนูพิเศษนี้ส่วนมากจะพบในแผ่น DVD หรือ Blueray เท่านั้น) รวมไปถึงประเมินศักยภาพที่มีในตัวผมเอง ประมวนผลทั้งหมดออกมาให้เป็นแผนงาน แล้วเริ่มถ่ายทำและทำ VFX ให้กับฉากเหล่านั้นเป็นการทดลองก่อน (แต่สุดท้ายแล้วก็นำมาใช้ในหนังด้วย) หลังจากที่ได้เริ่มทดลองทำและออกมาตามที่ต้องการ มันทำให้ผมได้เข้าใจและรู้ว่ามีขอบเขตอะไรบ้างที่เรา “ทำไม่ได้” มันอาจฟังดูด้านลบหน่อย แต่มันก็ทำให้เราที่จะไม่กระโดดสูงเกินตัวแล้วตกลงมาเจ็บ แต่บางทีมันก็ช่วยให้เราต้องคิดค้นวิธีใหม่ที่จะกระโดดไปให้พ้นได้เช่นกัน


การถ่ายทำและการเขียนบทเริ่มต้นไปพร้อมๆ กันอย่างไม่เป็นไปตามขั้นตอนกับพี่ชายของผม ว่าด้วยเรื่องของ plot และ การคำนวนทฤษฎีมั่วๆ ต่างๆ ของเราที่พยายามจะสร้างขึ้นมา ซึ่งก็เป็นสิ่งที่สนุกเช่นกันในการใช้สมองในด้านการคำนวนซึ่งผมไม่ถนัดเลย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่พี่ชายของผมเข้ามาช่วยโดยการใช้ทักษะคำนวนชั้นเลิศนี้เข้าไปในหนังของเรา แต่นั่นก็อาจจะเป็นวิธีของผมเองในผลงานชิ้นนี้ ซึ่งก็ไม่ค่อยแนะนำหรอกนะ แต่ก็ทำได้ (ฮ่าๆ) เพราะจริงๆ แล้วหากเราเข้าใจกระบวนการทำงานที่ดีและคิดอย่างทะลุปรุโปร่งซะแล้ว เราจะ “บิดงอ” ตำราก็ยังได้เลย เพราะท้ายที่สุดแล้วผลงานมันก็ออกมาสำเร็จเหมือนกัน ตราบใดที่เรารู้อยู่ว่า “ฉันกำลังทำอะไรอยู่…” และเมื่อการถ่ายทำเสร็จก็เข้าสู่กระบวนการ Post Production และนี่คืออีกหนึ่งในขั้นตอนที่ยอมรับว่าหินเหมือนกันเพราะว่า ภาพที่เราได้มานั้น มันคือภาพคลิปที่ดิบและไม่มีอะไรเลย ซึ่งถ้าหากคุณคือ editor จริง คุณจะเข้าใจว่า การเรียบเรียงเรื่องราวของแต่ละภาพนั้น ต้องอาศัยอะไรบ้าง และโดยเฉพาะเมื่อภาพที่ได้มานั้นไม่มีอะไรเลย นอกเหนือจากหัวคนลอยๆ บนพื้นสีเขียว ทำตัวโยกไปโยกมาเหมือนเด็กกำลังเล่นในจินตนาการ มันทำให้ยากมากๆ ในการที่จะหาจังหวะการตัดต่อให้ดีหรือมากไปกว่านั้น “เข้าใจ” ได้ ซึ่งผมก็ต้องเดินผ่านอุปสรรค์นั้นเช่นกัน แต่สิ่งที่แตกต่างสำหรับผมคือ ผมได้วางภาพ VFX ไว้ในหัวหมดแล้วทุกๆ อย่าง ดังนั้นจึงเป็นการง่ายที่ผมจะตัดต่อแม้จะยังไม่เห็นภาพตอน final ก็ตาม และนี่ไม่ใช่สิ่งที่ผมพยายามจะโอ้อวดอะไร แต่ผมอยากให้เป็นการแบ่งปันประสบการณ์ของการที่มีความเข้าใจและทักษะในหลายๆ ด้าน เพื่อให้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการทำงานในด้านนั้นๆ เพราะถ้าหากคุณปราศจาคสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็จะเป็นการยากมากในการทำงาน และอาจเป็นไอเดียที่คุณไม่กล้าที่จะแตะตั้งแต่แรกเลยก็ได้

แน่นอนการ Reshoot หรือถ่ายซ่อม ก็คงต้องมี เพราะการถ่ายทำแต่ละครั้ง เปรียบเสมือนการถ่ายทดลองเพื่อนำมาใช้ แต่แม้ว่าจะเหมือนการทดลองแต่เราก็ถ่ายทำทุกๆ อย่างตามจริงเช่นกัน เพราะบางครั้งฉากบางฉากที่ถ่ายมาไม่สามารถนำมาทำ VFX ได้ แม้ว่าจะต้องมีการกลับไปกลับมาในการถ่ายทำ-ตัดต่อ-ลองทำVFX-ถ่ายใหม่-ตัดต่อ… วนอยู่อย่างนี้หลายรอบ แต่มันก็ทำให้เราได้เรียนรู้และพยายามที่จะพัฒนาในการถ่ายซ่อมในแต่ละครั้ง จนกระทั่งได้ภาพที่ออกมาดีที่สุดและสามารถนำไปใช้ทำ VFX ได้เช่นกัน

กระบวนการสุดท้ายของเราคือ Music Score ที่ผมได้วางดนตรีอย่างคร่าวๆ แต่ท้ายที่สุดแล้วผมรู้ดีว่าผมคงไม่สามารถใช้ดนตรีเหล่านั้นที่มีลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่ได้ในช่องของผม ซึ่งสิ่งที่ผมทำอยู่อย่างเนืองๆ คือ การปล่อยตัวอย่างคลิปสั้นๆ ของหนังออกไป เพื่ออัพเดทให้กับคนได้ดูกัน จนกระทั้งมันไปเตะตานักประพันธ์ดนตรีประกอบชาวอังกฤษ ชื่อ Bradley Lewin ที่ทักเข้ามาแล้วขอเสนอตัวในการแต่งดนตรีประกอบให้กับหนังสั้นเรื่องนี้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ เพราะเขากล่าวว่านี่เป็นโอกาสที่ดีสำหรับเขาที่จะได้มีโอกาสในการแต่งดนตรีประกอบให้กับหนังสั้นที่ดูดีและมีคุณภาพ แม้จะเป็นเพียงโปรเจคเล็กๆ ที่ไม่ใหญ่อะไรมากนัก และนั่นคือจุดเริ่มต้นของอีกหนึ่งความสัมพันธ์ระหว่างผมกับเขาที่ยังคงสานต่อมาจนถึงทุกวันนี้ การทำงานที่ค่อนข้างยากและการสื่อสารที่ลำบากในเรื่องของเวลาเมืองไทยและที่อังกฤษ ทำให้เป็นอุปสรรค์ต่อเรามากๆ เราใช้เวลาอยู่นานพอสมควรกว่าเราจะได้ดนตรีตัวสำเร็จให้กับตัวภาพยนตร์ รวมไปถึงการแต่งดนตรีของผมเองที่ใช้ในส่วนอื่นของหนังโดยมีพี่มิ้นในการช่วยเล่นเปียโนให้ และนั่นก็คือจุดสิ้นสุดของผลงานตัวนี้

(ดนตรีประกอบภาพยนตร์ จากผู้ประพันธ์ดนตรี Bradley Lewin)


การถูกถ่ายทอดออกไปตามที่ต่างๆ ให้ผู้คนได้ชมกัน ซึ่งรวมไปถึงการเข้ามาของหลายๆ connection ที่เป็นประโยชน์มากๆ จนกระทั่งทางโรงภาพยนตร์เครือ SF ได้ทาบทามมาเพื่อขอนำไปฉายในโรงภาพยนตร์ แต่เนื่องจากงานนี้ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างผลกำไรใด เนื่องจากภาพประกอบบางส่วนเป็นภาพที่มีลิขสิทธ์จึงไม่สามารถนำไปหาผลกำไรได้ ผมจึงปฏิเสธไป ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วสิ่งนี้ก็ย่อมหวนกลับมามีบทบาทต่อได้ในที่สุด อีกทั้งผลงานนี้ยังได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับอีกหลายๆ คนได้เช่นกัน ซึ่งนั่นก็เห็นได้ชัดเจนจากผลงานรุ่นน้องที่แต่ง “เพลงประกอบ” ให้กับหนังเรื่องนี้ และทำ MV เผยแพร่เช่นกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ๋งและน่าประทับใจมากๆ

(เพลงประกอบภาพยนตร์ จาก Sixonine)


บทเรียนที่สำคัญที่ได้จากงานนี้คือ “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” จริงๆ แต่ถึงกระนั้น ความรู้ก็ยังคงต้องมีและสำคัญนะครับ เพราะสำหรับผมมองว่าทั้งสองล้วนมีความสำคัญมากพอๆ กันครับ แม้ว่าจินตนาการเป็นตัวตั้งต้น แต่ท้ายที่สุดแล้วความรู้จะต้องเป็นส่วนที่เติมเต็มให้กับงานของเราออกมาเป็นรูปธรรมได้ในที่สุด เพราะหากขาดความรู้ในแต่ละส่วน ก็เป็นการยากมากที่เราจะเดินงานให้ลื่นไหลได้ ซึ่งนี่ก็คือหนึ่งในสิ่งที่ผมพึงบอกกับตัวเองเสมอ นั่นคือการเปิดตัวเองกว้างต่อการเรียนรู้ในหลายๆ ภาคส่วน ไม่ใช่เพียงแค่ในสายอาชีพงานที่เรารับผิดชอบเท่านั้น แต่อีกหลายส่วนที่อาจเป็นความรู้และจุดประกายไอเดียให้กับเราในการทำงานที่ทำอยู่นี้ก็อาจเป็นได้ ซึ่งจริงๆ แล้วมันเกิดขึ้นกับผมแทบทุกครั้ง นั่นคือการดึงเอาความรู้จากสิ่งเหล่านั้นเข้ามาผนวกกับงานที่ผมกำลังทำ และท้ายที่สุดแล้วความพยายามที่จะผลักดันศักยภาพของผมเอง ก็ค่อยๆ นำผมให้ก้าวไปสู่ขอบเขตที่ไม่มีขอบเขตของตัวผมเอง ฟังดูอาจจะงง แต่สิ่งที่ผมพยายามจะสื่อคือ มันคือเส้นทางของกระบวนการคิดและทำจากเพดานที่เรามีอยู่ แล้วค่อยๆ ดันขยายขอบเขตนั้นขึ้นไปเรื่อยๆ และทำให้เรารู้ถึงจุดเพดานใหม่ที่เราสามารถไปถึงได้ เพราะแม้ว่าเพดานจะดูเหมือนจุดสิ้นสุด แต่มันก็เป็นเพดานที่ขยับเคลื่อนตัวได้เสมอ หากเราพร้อมที่จะผลักดันตัวเราเอง


ดู 11 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments

Rated 0 out of 5 stars.
No ratings yet

Add a rating
bottom of page